วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ร้อยคำที่ควรรู้

การคิดเชิงระบบ  (Systems  Thinking)
                การคิดเชิงระบบ คือ วิธีการเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างไร เป็นวิธีมองที่ก้าวข้ามเหตุการณที่เกิด เพื่อดูรูปแบบของพฤติกรรม เพื่อค้นหาระบบความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ อันเป็นที่มาของเหตุการณ์และพฤติกรรที่เกิดขึ้น การคิดเป็นระบบอยู่บนฐานการมองโลกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานการตีความ หรืออธิบายความสัมพันธ์ภายในระบบ  ความสัมพันธ์ที่เป็นตัวการของการดำเนินไปของระบบ ความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดรูปแบบต่างๆของพฤติกรรมและเหตุการณ์เรามองเห็น
                การคิดเชิงระบบแตกต่างจากการคิดเป็นเส้นตรง เดการ์และเบคอนให้กรอบวิเคราะห์และวิธีการวิทยาศาสตร์เพื่อให้เราเข้าใจ นิวตันให้กระบวนทัศน์ใหม่ ทั่งสามคนรวมกันทำให้เราคิดเราคิดแบบเส้นตรง (Linear Thinking) ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของเหตุผล เป็นกระบวนทัศน์ที่ค่อนข้างจำกัด ให้คิดเป็นกลไก มองโลกเป็นเครื่องจักรใหญ่ มีกลไกการทำงาน มองชีวิตเป็นกลไก แก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน (เช่น การแพทย์ ที่มองส่วนต่างๆแยกจากกัน มองเห็นไข้ แต่ไม่เห็นคนไข้ )
                เมื่อเราก้าวข้ามวิธีคิดแบบเส้นตรง การคิดเชิงเหตุผลและผลไปสู่การคิดเชิงระบบ คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นว่า สิ่งต่างๆดำเนินการไปอย่างไร ระบบคือสิ่งหนึ่งหรือรูปธรรมหนึ่งที่เป็นอยู่ เพราะองค์ประกอบของมันมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ปฏิสัมพันธ์นี้เป็นหัวใจของระบบ ไม่ใช่ส่วนประกอบ
การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
                การจัดการความรู้ (Knowledge Management-KM)  เป็นกกระบวนการเรียนรู้แบบหนึ่ง ซึ่งเดิมเกิดจากภาคธุรกิจที่นึกเสียดายความรู้ที่ติดตัวไปกีบพนักงานที่เกษียณอายุ หรือลาออกโดยไม่ได้ถ่ายทอดให้คนอื่น จึงคิดหาวิธีนำความรู้ที่ “ฝังลึก” (Tacit Knowledge แปลตามตัวว่า “ความรู้เงียบ”) ที่สั่งสมมานานจากประสบการณ์การทำงานให้ออกมาปรากฏ (Explicit Knowledge) ก็คือการบอกเล่าประสบการณ์ การให้สัมภาษณ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การบันทึกข้อมูลเป็นระบบ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ การนำไปประยุกต์ใช้ ถ่ายทอดสืบทอดกันต่อไป
                การจัดการความรู้ให้เกิดการพัฒนาคนงาน และองค์กร เพราะเกิดการเสวนา (Dialogue) เกิดปฏิสัมพันธ์ (Interaction) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงานที่มีความรู้และประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้เกิดความรู้ใหม่ เกดนวัตกรรมในองค์กร เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้งานมีประสิทธิภาพ องค์กรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่พัฒนาตนเองบนฐานความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง การจัดการความรู้วันนี้เป็นกระบวนการที่ใช้ได้ในทุกภาคส่วน องค์กร สถาบัน และชุมชน
การพัฒนายั่งยืน(Sustainable Development)
                “การพัฒนายั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ผู้คนในอนาคตเกิดปัญหาในการตอบสนองความต้องการของตนเอง” (นิยามของคณะกรรมการโลก ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา : World Commission on Environment and Development ในรายงาน Our Common Future 1987 หรือ Brundtland Report)
                การพัฒนายั่งยืน รวมความถึงสามด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน โครงการพัฒนาใดๆ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งสามด้านนี้
                การพัฒนายั่งยืนเป็นอะไรที่ไกลกว่าเพียงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดการบริโภคทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลงไปในระดับที่ยังรักษาความสมดุลที่ดี ทำให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายล้างอย่างที่ผ่านมา และยังเป็นอยู่หลายแห่ง ให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อยู่ดรกินดี และอยู่เย็นเป็นสุข
                “การพัฒนายั่งยืน” เป็นคำที่ถูกใช้คู่กับคำว่า “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) ถือว่าเป็นสองคำที่สัมพันธ์เกื้อหนุนกันอย่างแยกจากกันมิได้ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เห็นว่าการพัฒนายั่งยืนได้ ถ้าหากมีธรรมาภิบาลก่อให้เกิดการพัฒนายั่งยืน
                การพัฒนามนุษย์ (Human Hevelopment) หมายถึง การเปิดทางเลือกมากมายให้ผู้คนในสังคม หมายความว่า ผู้หญิงผู้ชาย โดยเฉพาะคนจน และคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากและเสี่ยงอันตราย คือ ศูนย์กลางของกระบวนการพัฒนา
                ในรายงานของ UNDP 1996 ได้แสดงให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นหลักประกันการพัฒนายั่งยืน และไม่ได้ขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป เข่น บางประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกลับอยู่ในระดับต่ำของการพัฒนามนุษย์ มีปัญหาความเลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศเดียวกัน ช่องว่างที่ถ่างออกไปเรื่อยๆ
                การพัฒนามนุษย์แบบยั่งยืน มีอยู่ 5 ลักษณะ คือ
1.             การสร้างความเข้มแข็ง (Empowerment) คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการเลือกและทางเลือกให้ผู้คนได้เป็นอิสระจากความหิว จากสิ่งที่พวกเขาขาดแคลน และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา
2.             ความร่วมมือ (Co-Operation) ผู้คนสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
3.             ความเท่าเทียม (Equity) คนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา การาดูแลสุขภาพ การจัดการชีวิต ทรัพยากร ชุมชนของตนเอง
4.             ความยั่งยืน (Sustainability) การพัฒนาวันนี้ไม่ทำลายทรัพยากรและโอกาสของคนรุ่นต่อๆไป แต่สร้างหลักประกันให้คนในอนาคตอิสระจากความยากจน และได้ใช้ความสามารถขั้นพื้นฐานของตนเอง
5.             ความมั่นคงปลอดภัย (Security) ในชีวิต ทรัพย์สิน การคุกคามจากโรคและภัยอันตราย
การพึ่งตนเอง (Self-Reliance)
                “การพึ่งตนเองเป็นสภาวะ หมายถึง ความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็น ปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
                “การพึ่งตนเอง หมายถึง การจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆอย่างเหมาะสมกับคน กับสังคม กับธรรมชาติรอบๆตัวเรา การพึ่งตนเอง หมายถึง การมีสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต ในปัจจุบันถึงอนาคต สวัสดิการที่พร้อมตอบสนองเราทันที โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกให้ใครมาจัดสวัสดิการให้  หรือใครมาช่วยเหลือ” (ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม)
                เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรากฐานของการพึ่งตนเองทั้งระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับสังคมโดยรวม ดังที่ทรงมีกระแสรับสั่ง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า
                “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พัฒนาบนความมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว ค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นสูงในลำดับต่อไป”

การศึกษาตามอัธยาศัย
                การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆโดนผู้เรียนเป็นผู้กำหนดรูปแบบ เนื้อหา กระบวนการเรียนรู้เอง อาจเป็นระบบหรือไม่เป็นระบบ อาจเป็นระยะสั้น ระยะยาว อาจต่อเนื่อง ไม่ต่อเนื่อง โดยที่เกิดจากความสนใจเรียนรู้  การเห็นความสำคัญของความรู้และความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มากกว่าการเข้าสู่ระบบการศึกษา
                การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเรียนรู้ที่มีพลัง เพราะเป็นการจัดการทั้งกระบวนการด้วยตนเอง การเรียนรู้จากการปฏิบัติ การทำงาน การอ่าน การฟัง การเห็น การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การสนทนา การเสวนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประชุมสัมมนา การค้นหาข้อมูล การทำวิจัย การวิจัยชุมชน การทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความรู้ที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ เห็นว่าชีวิตวันนี้ต้องมีความรู้จึงอยู่ได้

เกษตรผสมผสาน
                เกษตรผสมผสานเป็นชื่อกลางเพื่อหมายถึงการทำงานการเกษตรที่ปลูกหลายอย่าง เลี้ยงหลายอย่าง ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่างผสมผสานกัน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การปลูกพืช ไม้ใหญ่ไม้เล็ก ไม้ผล ไม่ใช้สอย ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ควาย รวมทั้งการนำผลผลิตมาแปรรูป ทำไว้กินไว้ใช้ ที่เหลือก็เอาไปไปขาย เพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ
                เกษตรผสมผสานมีมานานแล้ว เช่น สวนสมรมในภาคใต้ ซึ่งปลูกไม้ผล พืชผักเอาไว้กินมีหลายๆอย่างตามที่ครอบครัวต้องการ หลายอย่างเกิดเองตามธรรมชาติ และปล่อยไว้โดยไม่มีการจัดการอะไรเป็นพิเศษ บางแห่งปลุกแซมไว้ในป่า เป็นสวนในป่าธรรมชาติ
                แต่เดิมวิถีของชุมชนในระบบเศรษฐกิจยังชีพในทุกภาคก็มีการทำเกษตรคล้ายๆกันนี้ ต่างกันที่รูปแบบและการจัดการ ก่อนนี้ไม่ได้ทำเพื่อขาย ปลูกอย่างละเล็กละน้อยเพื่อกินและแบ่งให้ญาติพี่น้อง ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบและมีรูปแบบหลากหลายตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520  เป็นทางเลือกจากการทำเกษตรแบบการปลูกพืชเดี่ยว หรือการทำกิจกรรมเดี่ยว เช่น การเลี้ยงหมู ไก่ วัว ในลักษณะอุตสาหกรรม ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่คุ้นเคยและไม่มีประสบการณ์ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้สิน
                หลักคิดสำคัญของการทำเกษตรผสมผสาน คือ การทำเพื่ออยู่เพื่อกินเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งทำเพื่อขาย ไม่ทำแบบเอาเป็นเอาตาย หรือเน้นการลงทุนมาก ไม่เน้นการผลิตให้มากๆ เพื่อจะได้ขายและได้เงินมากๆ อย่างที่เคยคิดในการปลูกพืชเดี่ยว การทำเกษตรผสมผสานมีเป้าหมายที่การพึ่งตนเองเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านอาหาร รวมทั้งสมุนไพร ของใช้ ไม้ใช้สอยและพอมีรายได้บ้าง อยู่อย่างพอเพียง
                เกษตรผสมผสานมีการจัดการ มีระบบ โดยสิ่งที่ปลูกที่เลี้ยงจะเกื้อกูลกัน เสริมกัน ช่วยกัน สัตว์ได้พืชผักเป็นอาหาร พืชผักก็ได้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย ได้น้ำในบ่อปลาไปให้พืชผัก เอาไม้ใช้สอยที่ปลูกมาทำประโยชน์ในครัวเรือนและในสวน เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนไปมา
                เกษตรผสมผสานมีหลายรูปแบบ ไร่นาสวนผสม เป็นรูปแบบการทำเกษตรผสมผสานที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำนาไปพร้อมกัน มักจะมีการขุดบ่อปลาที่เชื่อมลงไปไนนาข้าวด้วยคูคลอง ระหว่างฤดูการทำนา ปลาก็จะออกไปหากินนานข้าว ขี้ปลาเป็นปุ๋ย ปลาช่วยกินแมลงต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เมื่อน้ำในนาแห้งลง ปลาก็ไปอยู่รวมกันอยู่ในหนองคลอง และบ่อปลา
                บางครั้งมีการใช้คำว่า พุทธเกษตร เพื่อบ่งบอกถึงพุทธปรัชญาเบื้องหลังการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเน้นการทำเพื่อกินเพื่อใช้ เพื่อการเป็นอยู่แบบพอเพียง สันโดษ และส่วนหนึ่งมักปลูกพืชผักผสมผสานเป็นหลัก ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ และไม่มีบริโภคเนื้อสัตว์

ความรู้มือหนึ่ง
                ความรู้มือหนึ่งเป็นคำใหม่ที่ใช้กันใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” (โดยคุณสุรกิจ สุวรรณแกม นายก อบต.ดอนย่านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นคนแรก) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ จากการปฏิบัติ จากการคิดสร้างสรรค์ ต่างจาก “ความรู้มือสอง” ซึ่งอยู่ในตำรา การเรียนรู้ที่ดีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การท่องตำรา แต่เป็นการสร้างความรู้ใหม่โดยอาศัยทั้งข้อมูลที่มีอยู่และหาใหม่ ความรู้มือสองและประสบการณ์ของคนอื่นมาช่วยให้เกิดการคิดการปฏิบัติเป็นกระบวนการ จนเกิดเป็นความรู้ใหม่ ความรู้ใหม่ที่สร้างเองนี้มีพลังจนอาจระเบิดศักยภาพในของแต่ละคนออกมา เกิดการเปลี่ยนแปลง  การเจริญเติบโต เกิดปัญญา

คืนสู่ฐาน (Back to Basic)
                คืนสู่ฐาน (Back to Basic) หมายถึง การกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่สับสนระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ เพราะความต้องการของคนไม่มีสิ้นสุด การคืนสู่ฐานจึงเป็นการเรียนรู้จักพอ อยู่พอกิน กินพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และมีเป่าหมายสุดท้ายคือความสุข ไม่สับสนระหว่างเป้าหมายและเครื่องมือ ไม่ใช่เอาเงินเป็นเป้าหมาย เอาความสุขเป็นผลพลอยได้  และทำทุกวิถีทางที่จำหาเงินให้ได้มากๆ  จนเกิดทุกข์ สำหรับชีวิตที่พอเพียง คนจนคือคนที่ไม่รู้จักพอ คนรวยคือคนที่รู้จักพอ คนมีความสุขเพราะรู้จักพอ
คืนสู่รากเหง้า  (  Back  to  the  Roots  )
                คืนสู่รากเหง้าเป็นคำที่ใช้เพื่อ หมายถึง  แนวคิวที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น การฟื้นฟูเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ (Identity) ของท้องถิ่น โดยการสืบสาวราวเรื่องในอดีต  ค้นหาประวัติความเป็นมาคุณค่าต่างๆ อันบูรณาการอยู่ในวิถีของชุมชนในลักษณ์ต่างๆ แล้วนำมาปรับประยุกต์เพื่อสืบทอดคุณค่าเหล่านั้นอย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต
                การคืนสู่รากเหง้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความเชื่อมั่นในตังเอง ทำให้เคราพบรรพษุรุษความรู้ภูมิปัญญาของปู่ย่า ตายายที่เป็นรากฐานของเผ่าพันธุ์ และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่สืบทอดและถ่ายทอดต่อๆกันมา การคืนสู่รากเหง้าทำให้เข้าใจวิถีของผู้คนในอดีตเข้าใจความสัมพันธ์อันดีและสมดุลที่ผู้คนมีต่อธรรมชาติ  ต่อกันและกัน
                การคืนสู่รากเหง้าไม่ใช่การคืนสู่อดีต  ไม่ใช่การกลับไปสู่รูปแบบดั้งเดิมไม่ใช่การ “โหยหาสวรรค์หาย” (Yearing  for  the  lost  Paradise) แบบ “วันวานยังหวานอยู่” ไม่ใช้การฟื้นฟูรูปแบบ  แต่ฟื้นฟูเนื้อหาหรือคุณค่าที่ดีงามที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีกว่าที่เป็นอยู่  เช่น  การเป็นอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ซึ่งในอดีตมีหลายรูปแบบ  เช่น  การลงแขก  แต่วิธีการลงแขกแบบเดิมไม่อาจใช้ได้ในวิถีสังคมปัจจุบัน  มีชุมชนหลายแห่งโดยเฉพาะในภาคใต้ที่ปรับให้เป็นแชร์แรงงาน  มีระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งการลงแขกในอดีตไม่มี  แต่เนื้อหาคือการพึ่งพาอาศัยกัน  จัดการแรงงานร่วมกัน  เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
                การคืนสู่เหง้าเป็นการค้นหาตัวตน  ค้นหากำพืดของตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้รู้จักอดีตเพื่อกำหนดอนาคต  รู้ที่มาเพื่อจะได้รู้ที่ไปของตนเอง

ชุมชนเข้มแข็ง
                ชุมชนเข้มแข็งเป็นวลีที่เป็นตัวแทนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนายั่งยืนที่เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน  โดยการให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด  เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า  การพัฒนายั่งยืนมาจาก “ข้างล่าง” (Bottom  Up )  และจะไม่เกิดถ้าหากเป็นคำสั่งจาก “ข้างบน” (Top Down) 
                ชุมชนเข้มแข็งเป็นชุมชนเรียนรู้  เพราะหากมีความรู้มีปัญญาก็จะสามารถข้นหาตัวเอง  รากเหง้า  จะสืบค้นและพัฒนาทุนท้องถิ่น  ซึ่งรวมถึงทุนทรัพยากร  ทุนทางปัญญา  และทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง  เป็นชุมชนที่ตัดสินใจด้วยตัวเอง  มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการชุมชน  และเครือข่ายความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น  หน่วยงาน  องค์กรต่างๆแบบภาคี  พันธมิตร  ไม่ใช่แบบอุปถัมภ์

ทุนชุมชน  ทุนสังคม  ( Social  Capital )
                ทุนชุมชน  เป็นคำที่ยืมคำว่า  “ทุน” ( Capital )  มาจากเศรษฐศาสตร์เพื่อบอกถึงทั้งสิ่งที่เป็นมูลค่าและคุณค่าที่นับเป็นเงินมิได้   แต่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง  หมายถึง  ทุนทรัพยากร  รวมทั้งทรัพยากรที่ชุมชนก่อให้เกิดหรือผลิตขึ้น  เช่น  ปัจจัยสี่  รวมถึงเงินและสินทรัพย์อื่นๆ ความรู้ภูมิปัญญา  ประสบการณ์ชีวิตของผู้คน  ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม
                ทุนสังคม  เป็นคำที่มีให้คนให้ความหมายหลากหลาย  หมายถึง “สถาบัน  ความสัมพันธ์ กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม” ( ธนาคารโลก)  หรือหมายถึง “กฎเกณฑ์  ระเบียบ  ข้อบังคับ  ความไว้ใจกัน  ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม  โครงสร้างทางสังคม  และสถาบันทางสังคม  ซึ่งช่วยให้สมาชิกบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองและของชุมชน” (นารายัน) หรือ “ลักษณะขององค์กรทางสังคม  เช่น  ความไว้ใจกัน  ระเบียบกฎเกณฑ์และเครือข่าย  ซึ่งช่วยให้สังคมมีประสิทธิภาพ  และทำให้ประสานการดำเนินงานต่างๆได้” (พุตนัม)

บริโภคนิยม ( Consumerism )
                บริโภคนิยม  เป็นคำที่ใช้กันทั้งทางวิชาการและในทางสังคมทางวิชาการ  หมายถึง  ทฤษฎีที่บอกว่า  ยิ่งมีการบริโภคมากขึ้นเพียงใดก็ยิ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
                ทางสังคมมีการใช้คำนี้ค่อนไปในทางลบเพื่อบอกถึง “ลัทธิบริโภคนิยม”  หรือที่บางคนเรียกว่า  “ลัทธิบ้าบริโภค” กลุ่มคนที่ใช้คำนี้ในทางลบเป็นขบวนการปกป้องผู้บริโภคจากการเอาเปรียบ  ล่อลวง  หลอกลวงและครอบงำของผู้ผลิตที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง  ใช้เครื่องมือสื่อสารโดยเฉพาะสื่อมวลชนในการโฆษณาชวนเชื่อ  ทำให้ผู้คนหลงใหลอยากได้  อยากมีมากขึ้น  โดยไม่เกี่ยวกับการ  “เป็นคนมากขึ้น” ตรงกันข้ามอาจจะน้อยลงเสียอีก  เพราะถลำเข้าไปในวงจรของหนี้สิน  ซึ่งกู้ยืมมาเพื่อบริโภค   ถลำลึกจนถอนตัวไม่ขึ้น  เกิดปัญหาชีวิต  ปัญหาครอบครัวและสังคม
                ลัทธิบริโภคนิยมตอบสนองกิเลสมนุษย์  ทำให้ผู้คนเห็นว่า  การมีบ้านหลังใหญ่  รถยนต์คันโต  แก้วหวานเพชรนิลจินดา  สิ่งของมีค่ามีราคาแพง  มียี่ห้อเป็นที่นิยม  เป็นการสร้างสถานภาพทางสังคมให้ตัวเอง  ทำให้ได้รับการยอมรับนับหน้าถือตาเป็นผู้ดีมีเงิน
                ลัทธิบริโภคนิยมมาพร้อมกับวัตถุนิยม ( Materialism )  ในความหมายพื้นฐานซึ่งหมายถึงลัทธิคำสอนหรือทฤษฎีที่อ้างว่าความสุขกายภายนอกและการมีข้าวของโลกเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดและเป็นคุณค่าสูงสุดของชีวิต ( ดู วัตถุนิยม ) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น